ข่าวการศึกษา

ผู้จัดการ กยศ. เล็งเข็น พ.ร.บ.กองทุนเพื่อการศึกษา หวังหน่วยงานเปิดเผยข้อมูลส่วนตัว แก้ปัญหาผู้กู้เบี้ยวหนี้ กยศ. เตรียมนำชื่อคนค้างชำระตั้งแต่ ปี 2539 เข้าระบบข้อมูลเครดิตบูโรปี 2561

ผู้จัดการ กยศ. เล็งเข็น พ.ร.บ.กองทุนเพื่อการศึกษา หวังหน่วยงานเปิดเผยข้อมูลส่วนตัว แก้ปัญหาผู้กู้เบี้ยวหนี้ กยศ. เตรียมนำชื่อคนค้างชำระตั้งแต่ ปี 2539 เข้าระบบข้อมูลเครดิตบูโรปี 2561 เข้มคัดกรองผู้กู้รายเก่า-รายใหม่ เกรดต้อง 2.00 ทำกิจกรรมอาสา 36 ชั่วโมงต่อปี เตือนนักศึกษาตั้งใจเรียน ชี้อาจถูกตัดสิทธิ์ได้

      จากกรณีที่กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ได้ออกมาตรการใหม่ ยึดทรัพย์ผู้กู้ กยศ. ที่ค้างชำระหนี้ โดยกรมบังคับคดีประเดิมยึดทรัพย์ไปแล้วเกือบ 800 ราย และเตรียมยึดทรัพย์อีกกว่า 4,000 ราย (อ่านข่าว กยศ. ลุยแล้ว ! บุกยึดทรัพย์ลูกหนี้ คิวต่อไปอีก 4 พันกว่าราย)

      ล่าสุดวานนี้ (18 กันยายน 2558) น.ส.ฑิตติมา วิชัยรัตน์ ผู้จัดการ กยศ. เปิดเผยว่า ปัญหาใหญ่ที่ไม่สามารถติดตามเงินผู้ที่กู้ยืมได้ เพราะไม่ทราบว่า ผู้กู้ยืมที่เรียนจบแล้วไปทำงานที่ไหน รวมถึงไม่ทราบที่อยู่ปัจจุบัน เนื่องจากผู้กู้บางคนเปลี่ยนที่อยู่แต่ไม่มีการแจ้งกลับมายัง กยศ. ดังนั้นการแก้ไขปัญหานี้ในระยะยาวจึงได้มีการจัดทำร่าง พ.ร.บ.กองทุนเพื่อการศึกษาขึ้น

      สำหรับเนื้อหาสาระในร่างกฎหมายฉบับนี้จะมีความสำคัญมาก เพราะกำหนดให้หน่วยงานสามารถเปิดเผยข้อมูลบุคคลได้ รวมถึงผู้กู้ยืมก็ต้องเปิดเผยข้อมูลเหล่านี้ด้วยเช่นกัน ซึ่งจะทำให้ กยศ. สามารถไปขอข้อมูลบุคคลกับหน่วยงานใดก็ได้ ซึ่งขณะนี้ร่างกฎหมายดังกล่าวอยู่ระหว่างการเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณา

      อย่างไรก็ตาม กยศ. จะหาโปรโมชั่นใหม่ ๆ เพื่อกระตุ้นการชำระหนี้คืนให้มากขึ้น และในปี 2561 ยังยืนยันว่าจะนำรายชื่อผู้ค้างชำระตั้งแต่ปี 2539 จนถึงปัจจุบันเข้าสู่ระบบข้อมูลเครดิตบูโรแน่นอน เพราะทุกวันนี้หลายคนยังคิดอยู่ว่าไม่จ่ายหนี้คืนก็ไม่เห็นเป็นไร ดังนั้น เราจึงต้องมีมาตรการที่เอาจริงเอาจังมากขึ้น

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก

 


News